Thursday, November 28, 2013

TOEFL หรือ TOEIC ดี???


เคยได้ยินหลายคนมาถามว่า จะใช้ TOEFL หรือ TOEIC ดี คนที่ถามก็มีทั้งน้องๆที่กำลังจะเรียนจบและคนทำงาน ทั้งที่จะเอาคะแนนไปใช้เรียนต่อและสมัครงาน ก็ไม่ค่อยแปลกที่คนอาจจะงง เพราะชื่อของข้อสอบทั้งสองคล้ายกันจนทำให้สับสน

แม้ว่าชื่อจะคล้ายกัน แต่มีความต่างกันอยู่ไม่น้อยเลยนะคะ

โทอิค หรือ TOEIC ย่อมาจาก Test of English for International Communication ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นข้อสอบที่วัดความสามารถในการสื่อสารกับชาวต่างชาติ ซึ่งก็จะเป็นการวัดทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน ส่วนโทเฟล หรือ TOEFL ย่อมาจาก Test of English as a Foreign Language เป็นข้อสอบที่วัดความเข้าใจและการใช้ภาษาอังกฤษในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งคะแนนจะนำไปใช้ในการสมัครเรียนต่อต่างประเทศเป็นส่วนมาก และอาจจะนำไปใช้ยื่นขอทุน ยื่นวีซ่า เป็นต้น รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ TOEFL สามารอ่านได้ใน http://all-about-toefl-th.blogspot.com/2013/11/toefl.html

ในส่วนของเนื้อหาข้อสอบ ก็ไม่มีความเหมือนกันเลยนะคะ คือ TOEIC จะมีทั้งการสอบ Listening+Reading กับ Speaking+Writing แต่ที่คนทั่วไปสอบกันก็จะสอบแค่ Reading+Listening (ส่วน Speaking+Writing จะสอบในกรณีที่มีการขอสอบเป็นพิเศษเท่านั้น ขอไม่กล่าวถึงนะคะ - ผู้เขียน) ซึ่งเนื้อหาในส่วน Reading จะเกี่ยวกับการทำงาน เช่น โฆษณา ติดประกาศ หรือบทความสั้นๆ และมีเติมคำในประโยค ส่วนเนื้อหาในส่วน Listening ก็จะเป็นบทสนทนาทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือประกาศต่างๆ



แต่ TOEFL จะบังคับสอบทั้ง 4 ทักษะ คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งเนื้อหาข้อสอบทั้งสี่ส่วนจะยากกว่า TOEIC เพราะระดับจะเทียบเท่ากับภาษาอังกฤษที่ใช้ในมหาวิทยาลัย ซึ่งก็จะมีเนื้อหาไปในแนวบทความทางวิชาการ การฟังบรรยายในห้องเลคเชอร์ การเขียน essay และการพูดแสดงความคิดเห็นหรืออธิบายเชิงวิเคราะห์ เป็นต้น รายละเอียดเนื้อหาข้อสอบ TOEFL iBT จะขออธิบายละเอียดในหัวข้อถัดไปนะคะ



วิธีการสมัครสอบ TOEIC คือ สมัครด้วยตัวเองที่ ตึก BB Tower (Bangkok Business Building) ชั้น 19 ห้อง 1907 ถนนอโศกมนตรี (ซอยสุขุมวิท 21) หรือโทรไปจองที่นั่งสอบก็ได้ที่ โทร 02-260 7061 , 02 664 3131 เปิดสอบสองช่วงคือ เช้า 09.00 น.-12.00 น. และบ่าย 13.00น.-16.00 น.  เปิดสอบทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ส่วนการสมัคร TOEFL (iBT) ต้องทำการสร้าง account แล้วสมัครออนไลน์ที่ https://toefl-registration.ets.org/TOEFLWeb/extISERLogonPrompt.do ส่วนใครต้องใช้ TOEFL ITP สามารถดูรายละอียดเพิ่มเติมได้ใน http://www.iiethai.org/web/testing.php?subsection=3 ซึ่งระยะเวลาในการสอบ TOEIC คือ ประมาณสองชั่วโมงครึ่ง ส่วน TOEFL (iBT) คือ ประมาณสี่ชั่วโมงถึงสี่ชั่วโมงครึ่งค่ะและคะแนนของ TOEIC อยู่ในช่วง 10-990 ส่วน TOEFL คะแนนอยู่ในช่วง 0-120

สำหรับการเตรียมตัวสอบทั้ง TOEFL และ TOEIC เราสามารถฝึกได้จากการอ่านบทความหรือข่าวภาษาอังกฤษ และฝึกฟังจากการดูหนัง/ซีรีส์/สารคดี/ข่าว ภาษาอังกฤษ ถ้าจะให้แนะนำนะคะ TOEIC ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ตายตัว ดังนั้นถ้าฝึกอ่าน ฝึกฟัง ฝึกใช้บ่อยๆ ก็จะทำได้ไปเองโดยไม่ต้องไปเสียเงินกวดวิชาเลยค่ะ แต่สำหรับ TOEFL อาจจะต้องฝึกฝนหนักหน่อยนึง ฝึกอ่าน ฝึกฟังธรรมดาไม่พอ แต่ต้องฝึกจดโน้ต เหมือนกับการเรียนในมหาวิทยาลัย ฝึกพูดออกมาในเชิงวิเคราะห์หรือให้เหตุผลประกอบ และฝึกเขียนเรียงความ ซึ่งการเตรียมตัวเพื่อสอบ TOEFL นี้ต้องมีวินัยในตัวเองสูงเลยทีเดียวค่ะ

สรุปนะคะ TOEFL ใช้สำหรับเรียนต่อหรือขอวีซ่าเป็นหลัก แต่ถ้าจะยื่นสมัครงานต้องสอบ TOEIC ค่ะ ดังนั้นก็คิดให้ดีก่อนว่าเราจะเอาคะแนนไปใช้ทำอะไร จะได้เลือกสอบถูกอันค่ะ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่อง TOEFL สามารถดูได้ใน www.ets.org/toefl และข้อมูล TOEIC ดูได้ใน www.ets.org/toeic

Saturday, November 16, 2013

TOEFL ที่ใช้กันในปัจจุบัน


ในปัจจุบัน TOEFL ก็มีหลายตัว ดังนั้นก่อนที่เราจะเลือกเวอร์ชั่นไหนสอบ ก็ขอให้หารายละเอียดและข้อแตกต่างของแต่ละเวอร์ชั่นกันก่อนค่ะ

ขอเริ่มที่เวอร์ชั่นที่เป็นที่แพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบันก่อนนะคะ เวอร์ชั่นนี้เรียกว่า TOEFL iBT (TOEFL Internet-Based Test) เป็นข้อสอบที่ต้องทำผ่านทางคอมพิวเตอร์ โดยการจัดการตัวข้อสอบ (เช่น การรับส่งคำถาม คำตอบ) จะทำผ่านระบบอินเตอร์เนต โดยข้อสอบเวอร์ชั่นนี้จะประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ ฟัง พูด อ่าน และเขียน ซึ่งระดับความยากจะเป็นระดับเดียวกับภาษาอังกฤษที่ใช้ในมหาวิทยาลัย (ช่วง Intermediate ไปจนถึง Advanced) และระยะเวลาในการสอบคือประมาณสี่ชั่วโมงครึ่ง ในเมืองไทยจะเริ่มตั้งแต่ 9.00 น. ไปจนถึงประมาณ 13.30 น.

เนื่องจากข้อสอบ iBT ได้รับการยอมรับแพร่หลาย จัดว่าเป็น Global Test ดังนั้นผู้ที่จะนำผลคะแนนไปใช้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ รองลงมาก็จะเป็นคนที่นำคะแนนไปใช้ในการสมัครยื่นหลักสูตรนานาชาติบางแห่งในเมืองไทย นอกจากนี้ก็ยังมีที่นำไปใช้ในการขอวีซ่า ยื่นขอทุน หรือใช้ในการประเมินความสามารถด้านภาษาอังกฤษสำหรับองค์กรต่างๆอีกด้วย

แต่สำหรับในบางประเทศที่ไม่สามารถจัดสอบในระบบ iBT ได้ ก็จะมีการจัดสอบเป็น TOEFL pBT แทน (เช่นในประเทศพม่า) ซึ่งเวอร์ชั่นนี้จะประกอบไปด้วย 3+1 ส่วน คือ สามส่วนแรก คือ listening reading และ Structure and Written Expression (คือทดสอบหลักไวยากรณ์) และอีกหนึ่งส่วนเรียกว่าข้อสอบ TWE (Test of Written English) หรือก็คือ writing นั่นเอง ซึ่ง TWE นี้เป็นส่วนที่บังคับว่า ถ้าจะสอบ pBT แล้วต้องสอบ TWE ด้วย (จะสังเกตเห็นว่า pBT จะไม่มีส่วน speaking แต่ iBT ไม่มีส่วน Structure and Written Expression) ข้อสอบใ้้ช้เวลาทั้งหมดสี่ชั่วโมง



แต่สำหรับในเมืองไทย เราไม่มีข้อสอบ TOEFL pBT อยู่แล้วนะคะ เพราะเรามี iBT มาแทนที่ทั้งหมด แต่ที่กล่าวมานี้ ก็เผื่อว่าถ้าใครจำเป็นต้องเดินทางหรือพักอาศััยในประเทศที่มีแต่ TOEFL pBT เป็นระยะเวลานาน จะได้อ่านไว้เป็นข้อมูลค่ะ

ดังนั้น ข้อสอบ pBT ก็เป็นที่ยอมรับทั่วโลกเช่นเดียวกับ iBT นะคะ เพียงแต่ว่า ขึ้นอยู่กับประเทศที่คุณอยู่ ณ เวลานั้น เช่น ถ้าคุณไปทำงานอยู่ที่แอฟริกาใต้ แล้วยังไม่กลับเมืองไทย แต่ต้องการรีบใช้คะแนน ก็สามารถสอบเป็น pBT ที่แอฟริกาใต้ได้ค่ะ แต่สเกลคะแนนก็จะไม่เหมือนกันนะคะ (iBT คะแนนอยู่ในช่วง 0-120 ส่วน pBT อยู่ในช่วง 310-677) ดังนั้นก็ต้องเช็คจากตารางเปรียบเทียบของ ETS ว่าคะแนน iBT ที่ต้องการ เทียบกับ pBT เป็นเท่าไหร่

นอกจากนี้แล้วยังมี TOEFL ที่ใช้กันอยู่อีกประเภทหนึ่งเรียกว่า TOEFL ITP (TOEFL Institutional Testing Program) เป็นข้อสอบที่มีลักษณะเปเปอร์ (มีกระดาษคำถามและกระดาษคำตอบ) เวอร์ชั่นนี้จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ reading listening และ Structure and Written Expression ซึ่งก็คล้ายกับ pBT แต่จะไม่มีการสอบการเขียน ระยะเวลาในการสอบคือ ประมาณสองชั่วโมง คะแนนอยู่ในช่วง 310-677

ข้อสอบ ITP จัดเป็น Local Test คือใช้คะแนนยื่นได้แค่ในประเทศ (แม้ว่าข้อสอบ ITP จะมีจัดสอบในประเทศอื่นด้วย เช่น เม็กซิโก แต่ถ้าสอบในเม็กซิโก ก็ใช้ยื่นได้แค่สถาบันในเม็กซิโกเท่านั้น) ดังนั้นผู้ที่จะนำคะแนน ITP ไปใช้ ก็จะได้แก่ ผู้ที่จะสมัครเข้าเรียนต่อในสถาบันในประเทศ (ทั้งนานาชาติและหลักสูตรปกติ) หรือใช้ยื่นขอทุนบางประเภท หรือใ้ช้ประเมินความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ การยื่นคะแนนเข้าสมัครเรียนต่างประเทศต้องใช้ iBT อยู่แ้ล้ว แต่สำหรับสถาบันในประเทศ หากไม่แน่ใจว่าต้องสอบ TOEFL iBT หรือ TOEFL ITP ก็ขอให้ไปสอบถามทางสถาบันหรือองค์กรที่จะนำคะแนนไปยื่นก่อน ว่ารับคะแนนตัวไหน คือ ตัว iBT เป็นตัวที่ใช้ได้ทุกที่อยู่แล้ว ส่วน ITP ใช้ได้กับแค่บางสถาบันเท่านั้น แต่ถ้าสถาบันนั้นรับคะแนนทั้งสองอย่าง คนมักจะเลือกไปสอบ ITP มากกว่า เพราะค่าสอบถูกกว่า (iBT ราคา 180 USD หรือห้าพันกว่าบาท ส่วน ITP ราคา 1800 บาท) และโดยตัวเนื้อหา ข้อสอบ ITP ก็ง่ายกว่าด้วย ดังนั้นสอบถามข้อมูลจากสถาบันปลายทางที่รับคะแนนให้ละเอียดก่อนสมัครสอบ เพื่อจะได้เลือกสอบได้ถูกอันค่ะ

รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ตามลิงค์นี้เลยค่ะ
TOEFL iBT   :  http://www.ets.org/toefl/ibt/about/
TOEFL pBT  :  http://www.ets.org/toefl/pbt/about
TOEFL ITP  :  http://www.ets.org/toefl_itp/about/

Friday, November 15, 2013

วิวัฒนาการของ TOEFL (iBT)


หลายคนคงเึคยได้ยินชื่อข้อสอบ TOEFL แต่พอหาข้อมูลในอินเตอร์เนตดูกลับพบว่า ข้อสอบ TOEFL มีหลายเวอร์ชั่น ทั้งสอบกับคอมพิวเตอร์ สอบเป็นเปเปอร์ เลยไม่แน่ใจว่าสรุปแล้ว ถ้าจะนำคะแนนไปใช้ ควรจะสอบแบบไหนดี นุชขออธิบายดังนี้ค่ะ

ในปัจจุบัน TOEFL ที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป เรียกว่า TOEFL iBT ย่อมาจาก TOEFL Internet-Based Test โทเฟลชนิดนี้จะสอบกับคอมพิวเตอร์ โดยคำถามและคำตอบจะถูกส่งทางอินเตอร์เนต หากประเทศไหนที่ระบบคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เนตยังไม่เอื้ออำนวยแก่การสอบ ก็จะมีการสอบแบบ TOEFL pBT หรือ TOEFL Paper-Based Test ก็คือการสอบในกระดาษแทน (รายละเอียดอยู่ในหัวข้อนี้ค่ะ http://all-about-toefl-th.blogspot.com/2013/11/toefl_16.html)

ในหัวข้อนี้จะขอพูดถึงวิวัฒนาการของ TOEFL ตัวที่เป็นที่ใช้มากทั่วโลก ก็คือ TOEFL iBT ก่อนนะคะ

TOEFL iBT เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดของข้อสอบตระกูล TOEFL โดยแรกเริ่มเดิมทีข้อสอบเวอร์ชั่นแรกเรียกว่า TOEFL pBT ตัวนี้จะคล้ายกับ pBT ที่ใช้ในบางประเทศในปัจจุบัน แต่ต่างกันตรงที่เวอร์ชั่นดั้งเดิม ไม่มีข้อสอบส่วน writing ดังนั้น ข้อสอบ TOEFL pBT สมัยโบราณจะเป็นข้อสอบที่มีสามส่วนคือ reading, listening และ grammar structure โดยข้อสอบทั้งสามส่วนนี้จะเป็นแบบตัวเลือก (multiple choices) หมดเลย



ต่อมาก็ได้มีการทำวิจัย และพบว่าการที่เด็กนักเรียนสอบข้อสอบแบบตัวเลือก คะแนนสอบที่ได้ก็ยังไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าเด็กจะไปเรียนต่อได้ดี จึงมีการเพิ่มส่วน writing เข้าไปในข้อสอบเพราะคนที่เรียนต่อก็จำเป็นจะต้องมีทักษะการเขียนด้วย และในส่วนของ reading และ listening ก็ได้มีการเพิ่มรูปแบบคำถามใหม่ๆลงไป (ก็ทำให้ข้อสอบยากขึ้น) และเนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวกระดาษคำถามและคำตอบมาใช้เป็นคอมพิวเตอร์แทน หรือที่เรียกว่า TOEFL cBT (TOEFL Computer-Based Test) ทำให้ข้อสอบส่วน listening และ grammar structure ถูกปรับให้เป็นลักษณะ computer adaptive อธิบายง่ายๆก็คือ คำถามข้อถัดไป จะปรับความยากง่ายจากข้อปัจจุบันที่เราตอบ เช่น ถ้าข้อ 2 เราตอบถูก คำถามข้อ 3 ก็จะถูกปรับให้ยากขึ้น แต่ถ้าข้อ 2 เราตอบผิด คำถามข้อ 3 ก็จะถูกปรับให้ง่ายลง แต่ถ้าเราตอบข้อที่ยากขึ้นได้ถูก ก็จะได้คะแนนมากกว่าตอบข้อที่ง่ายลงถูก

ทีนี้เนื่องจากได้มีการทำวิจัย (ETS ทำวิจัยเรื่องข้อสอบตลอด) แล้วก็พบว่าทักษะการเรียนจะต้องมีครบทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียน และในส่วนไวยากรณ์ก็พบว่า การใช้ภาษาในชีวิตประจำวันจริงๆ หลักไวยากรณ์เป็นสิ่งที่ต้องมีแทรกซึมอยู่แล้วในทั้ง 4 ทักษะ ทำให้ทาง ETS ได้เปลี่ยนข้อสอบเป็น TOEFL iBT ซึ่งเวอร์ชั่นนี้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดที่ใช้กันทั่วโลกนั่นเอง

ตอนต่อไปเราจะมาพูดถึง TOEFL ที่ใช้กันในปัจจุบันว่ามีแบบไหนบ้างนะคะ

Tuesday, November 12, 2013

TOEFL (โทเฟล) คืออะไร


ถ้าพูดถึงคำว่า "โทเฟล" หลายคนต้องบอกว่า เคยได้ยินมาก่อน แต่ถ้าถามว่า มันคืออะไร เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะตอบได้ถูกต้องว่าโทเฟลสอบไปเพื่ออะไร เอาไปใช้ทำอะไร

ข้อสอบโทเฟล หรือ TOEFL ย่อมาจาก Test of English as a Foreign Language ความหมายก็คือ เป็นข้อสอบที่ใช้วัดความสามารถภาษาอังกฤษสำหรับคนที่ไม่ได้มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ (หรือง่ายๆก็คือ ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษตั้งแแต่เกิด) ดังนั้น คนที่ต้องทำข้อสอบนี้ก็จะเป็นชาวต่างชาติทั้งหลายทั้งจากเอเชีย ยุโรป แอฟริกา หรือแม้แต่คนจากบางประเทศในทวีปอเมริกา (เช่น เม็กซิโก เปรู)



แล้วข้อสอบ TOEFL ใครเป็นคนออกล่ะ???   องค์กรที่จัดทำข้อสอบนี้ชื่อว่า ETS (Educational Testing Services) ซึ่งเป็นองค์กรของอเมริกา และเป็นองค์กรเดียวกับผู้ออกข้อสอบ TOEIC และ GRE นั่นเองค่ะ

ถ้าถามว่า เอาคะแนน TOEFL ไปทำอะไรล่ะ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า TOEFL วัดภาษาอังกฤษในลักษณะไหน ข้อสอบ TOEFL จะวัดความสามารถในการใช้และเข้าใจภาษาอังกฤษในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งข้อสอบ TOEFL จะมีหลายเวอร์ชั่น แต่เวอร์ชั่นที่ใช้ล่าสุดในปัจจุบันจะเป็น TOEFL iBT เวอร์ชั่นนี้จะทดสอบความสามารถทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียน (รายละเอียดของแต่ละเวอร์ชั่นจะขออธิบายในหัวข้อถัดไป)

ข้อสอบจึงเป็นการวัดภาษาอังกฤษในลักษณะเชิงวิชาการ (academic)    
ดังนั้นผู้ี่ที่จะนำผลสอบไปใช้ ก็มักจะเป็นผู้ที่ต้องการไปเรียนต่อต่างประเทศ ผู้ที่ต้องการสอบเข้าวิทยาลัยนานาชาติซึ่งหมายรวมถึงสถาบันในประเทศ   หรือผู้ที่ต้องการขอวีซ่าด้วยเช่นกัน



สำหรับผู้ที่จะนำผลคะแนน TOEFL ไปใช้เรียนต่อต่างประเทศ ก็ขอให้ศึกษาให้ดีก่อนว่าสถาบันที่ท่านจะสมัครนั้น เขารับผลคะแนน TOEFL หรือเปล่า เพราะถึงแม้ว่าในปัจจุบันหลายๆประเทศจะยอมรับผลคะแนน TOEFL มากขึ้น (นอกเหนือจาก IELTS) เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถาบันอีกทีหนึ่ง บางสถาบันก็ไม่รับคะแนน TOEFL เลย จึงขอแนะนำให้หาข้อมูลก่อน เพื่อที่ว่าจะได้ไม่เสียเวลาและเสียเงินไปกลับการเตรียมตัวสอบแต่ไม่ได้ใช้คะแนน

ท้ายนี้ก่อนจะจบโพสต์นี้ ขอบอกถึงข้อดีของการสอบ TOEFL สักหน่อยแล้วกัน เนื่องจากเนื้อหาของการสอบจะเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาในรั้วมหาวิทยาลัย ดังนั้นหากคุณเตรียมตัวสอบมาอย่างดีแล้วและคะแนนผ่านตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดแล้ว ก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะนอกจากจะได้ทักษะทางด้านภาษา เช่น คำศัพท์ มากขึ้นแล้ว ทักษะที่ต้องฝึกฝนในการสอบจะเป็นทักษะที่ต้องใช้จริงในชีวิตการเรียนต่อ เช่น ในส่วน listening คุณก็จะได้ฝึกการฟังเลคเชอร์ไปพร้อมกับการจดโน้ต หรือในส่วน speaking ก็จะได้ฝึกการ discussion แสดงความคิดเห็นในห้องเรียนไปด้วย เป็นต้น ดังนั้นถ้าคุณต้องใช้ผลสอบ TOEFL แ้ล้ว ขอให้อย่ามองแต่ว่าข้อสอบยากจนเป็นอุปสรรค แต่ขอให้มองว่าคุณจะได้อะไรจากมันค่ะ

Reference: www.ets.org/toefl

Friday, November 8, 2013

Welcome to my Blog :)


สวัสดีค่ะ ขอแนะนำตัวก่อนนะคะ ชื่อนุชค่ะ

สืบเนื่องจากนุชมีประสบการณ์สอบโทเฟล ติวโทเฟล (ทั้งเป็นผู้ติวและถูกติว) ได้คลุกคลีกับวงการมาพอสมควร และเห็นว่าหลายคนยังไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโทเฟล ถึงแม้จะมีหลายคนที่เขียนบทความเกี่ยวกับโทเฟล แต่บทความหนึ่งก็อาจจะให้ข้อมูลนิดหน่อย หากอยากจะรู้ข้อมูลมากๆ ก็อาจจะต้องไปหาอ่านจากหลายแหล่ง นุชในฐานะผู้ที่ผ่านประสบการณ์และมีคนมาปรึกษาเรื่องโทเฟล(บ้าง)จึงอยากจะแบ่งปันในสิ่งที่ได้รู้มาค่ะ





หากข้อมูล ณ วันที่เขียนยังไม่ได้รับการแก้ไขในกรณีที่่มีประกาศเปลี่ยนแปลงข้อมูล ก็สามารถติงมาให้อัพเดตข้อมูลได้นะคะ และหากมีข้อติชม เสนอแนะอะไรก็บอกกล่าวกันได้ผ่านคอมเม้นท์ข้างล่างของแต่ละโพสต์ได้นะคะ คอมเม้นท์เปิดโอกาสให้ทุกคนโพสต์ได้ไม่เฉพาะแค่คนที่มี account ของกูเกิ้ลเท่านั้น เพื่อจะได้นำข้อคิดเห็นไปปรับปรุงค่ะ

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณคนไทยหลายๆท่านที่เคยเขียนบทความเกี่ยวกับโทเฟล ทำให้นุชได้เคยเข้าไปอ่าน และเป็นข้อมูลสำหรับคนที่จะต้องเตรียมตัวสอบคนอื่นๆด้วยค่ะ